การสัมภาษณ์ตามบริบท

Contextual Interview

การสนทนากับผู้คนเกี่ยวกับชีวิตประจําวันในบริบทสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่

BENEFIT

ผู้วิจัยสามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วม และเข้าใจผู้ถูกสัมภาษณ์ได้ลึกซึ้งขึ้น สามารถมุ่งประเด็นความสนใจไปที่ประสบการณ์ ซึ่งอาจรวมถึง ความรู้สึก ความประทับใจ ทัศนติ แรงจูงใจ ความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมหรือคนรอบข้างที่มี

INPUT

หัวข้อของโครงการ ข้อคำถามเพื่อเริ่มการสนทนากับผู้ถูกสัมภาษณ์

OUTPUT

ข้อมูลการสังเกตการณ์และการสัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับประสบการณ์จากมุมมองของผู้ถูกสัมภาษณ์เอง

WHAT IT DOES

การสัมภาษณ์ตามบริบท (Contextual Interview) หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า การสัมภาษณ์เชิงชาติพันธุ์วรรณา (Ethnographic Interview) เป็นการลงพื้นที่ในการวิจัย โดยเข้าร่วมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด การสัมภาษณ์ตามบริบทมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำความเข้าใจในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้คนในพื้นที่นั้นประสบพบเจอ ด้วยมุมมองของตนเองและในพื้นที่จริงที่กิจกรรมนั้นเกิดขึ้น การทำเช่นนี้ทำให้ผู้ทำวิจัยเรียนรู้เกี่ยวกับผู้คนผ่านเรื่องราวของคนเหล่านั้น ภายใต้คำอธิบายของพวกเขาเอง การวิจัยตามแนวทางนี้เป็นการสนทนาในลักษณะปลายเปิด ซึ่งจะสร้างความเป็นอคติน้อยกว่าการสัมภาษณ์ที่ใช้ชุดคำถามที่มีโครงสร้างเป็นตัวตั้งต้น โดยทั่วไปแล้วการสัมภาษณ์ตามบริบทจะถูกจัดขึ้นในสภาพแวดล้อมจริง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสนทนากำลังเกิดขึ้น ทำให้การสนทนาสามารถเห็นภาพและรายละเอียดที่อาจมิได้นึกถึงได้อย่างชัดเจนมากขึ้น การทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ได้สนทนาประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานที่จริงจะช่วยทำให้การรื้อฟื้นความจำเป็นไปได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะสะดวกใจในการพูดคุยในสภาพแวดล้อมที่ตนเองเคยชินมากกว่าสภาพแวดล้อมที่ถูกจำลองขึ้นหรือไม่คุ้นเคย เช่น กรณีของการทำวิจัยแบบสนทนากลุ่ม ที่เชิญมาคุยรวมกันในห้องปิด

CONSIDERATIONS

  • ในบางกรณีที่เป็นเรื่องส่วนตัว หรือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ผู้ถูกสัมภาษณ์อาจจะไม่สะดวกใจที่จะให้ผู้วิจัยเข้าไปในสถานที่นั้นด้วย
  • เนื่องจากวิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้เวลาในการเก็บข้อมูลนาน เพราะจะต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลของผู้ใช้แต่ละคน อีกทั้งใช้เวลาค่อนข้างสูงในการวิเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกอย่างละเอียด จึงไม่สามารถทำจำนวนมาก เหมือนการเก็บแบบสอบถามเชิงปริมาณได้ สำหรับงานวิจัยที่ต้องการการยืนยันจากคนจำนวนมาก อาจจะนำผลที่ได้จากการสัมภาษณ์ตามบริบทนี้ไปยืนยันอีกที โดยการใช้แบบสอบถามเฉพาะประเด็นที่ต้องการการยืนยัน
  • HOW IT WORKS

    1. การวางแผนในการลงพื้นที่และสัมภาษณ์ ในแบบแผนการสัมภาษณ์ (Protocol) ควรระบุอย่างละเอียดถึงรายละเอียดตัวแทนผู้ใช้บริการที่จะไปสัมภาษณ์และสนทนาด้วย ระยะเวลาที่อยู่ในพื้นที่ คำถามที่ใช้ในการพูดคุยกับผู้ถูกสัมภาษณ์ ใครจะทำหน้าที่อะไร ยกตัวอย่างเช่น ใครจะทำหน้าที่ถ่ายรูป ใครจะเป็นผู้จดบันทึก ใครจะเป็นผู้ที่พูดคุยสนทนากับผู้ถูกสัมภาษณ์ รวมถึงแจกแจงลำดับขั้นตอนในกิจกรรมที่วางแผนไว้
    2. การจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการลงพื้นที่รวมถึงสมุดจด กล้อง สมุดวาดภาพ เครื่องบันทึกเสียง หรือแม้กระทั่งเอกสารต่างๆ เช่น เอกสารยินยอมในการใช้ข้อมูลการสัมภาษณ์เพื่อการวิจัย
    3. เมื่อมาถึงสถานที่ที่จะสัมภาษณ์ควรสร้างมิตรภาพและความเชื่อมั่นให้กับบุคคลในพื้นที่ก่อนเริ่มสัมภาษณ์ บุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องลงนามในเอกสารที่จำเป็น เช่นเอกสารยินยอม และต้องทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์สะดวกใจในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยอธิบายถึงขั้นตอนทั้งหมดและให้เวลาซักถามหากผู้ถูกสัมภาษณ์มีข้อสงสัย สิ่งสำคัญที่พึงระวังคือการให้ความสำคัญกับผู้ถูกสัมภาษณ์เท่าๆ กัน และการให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เป็นผู้นําการสนทนา โดยพยายามใช้คำถาม เช่น คุณช่วยเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกนิดได้ไหม เพื่อทวนสิ่งที่ได้ยินอีกครั้งและยืนยันตรวจสอบสิ่งที่ได้ยินหรือสังเกตพบว่าเป็นไปตามที่เข้าใจหรือไม่ ควรใช้เวลาในการสัมภาษณ์ไม่เกินเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ และอาจมีการให้ของตอบแทน เพื่อขอบคุณผู้ถูกสัมภาษณ์ที่สละเวลามาให้ข้อมูล
    4. การเก็บข้อมูลในการสังเกตการณ์และสัมภาษณ์ ช่วงตลอดเวลาในการลงพื้นที่ มอบหมายงานให้แต่ละสมาชิกของทีมทำหน้าที่จดบันทึก วาดภาพประกอบ ถ่ายรูป บันทึกเสียงและวิดีโอในระหว่างการพูดคุย ซึ่งจำเป็นต้องขออนุญาตก่อน และควรเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อใช้สำหรับการวิเคราะห์ในภายหลัง
    5. การสรุปข้อมูลกับกลุ่มผู้ทำงาน (Debrief) ควรกระทำโดยเร็วที่สุดหลังจากการลงพื้นที่เสร็จสิ้นลงแต่ละครั้ง โดยการเปรียบเทียบข้อความที่ได้จากที่จดบันทึกไว้ แล้วอภิปรายสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่สำคัญ มีสิ่งใดที่ต้องกระทำเพิ่มเติมในการทำวิจัยในครั้งต่อไป และสามารถที่จะทำให้สำเร็จได้อย่างไร