การค้นหาความเข้าใจเชิงลึกจากการสังเกตการณ์

Observation to Insights

การค้นหาความเข้าใจเชิงลึกจากการสังเกตการณ์ ผ่านการวิเคราะห์มุมมองที่ถูกซ่อนเร้น

BENEFIT

  • สนับสนุนการส่งผ่านการสร้างองค์ความรู้
  • ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจที่ครอบคลุม
  • ทำให้แนวทางปฏิบัติเป็นไปอย่างโปร่งใส
  • ส่งเสริมความเข้าใจร่วมกัน
  • INPUT

    ข้อมูลที่ได้มาจากการวิจัยทั้งภาพ เสียง ข้อความ วิดีโอ

    OUTPUT

    ชุดการเก็บรวบรวมความเข้าใจเชิงลึก ที่สามารถอ้างอิงถึงการสังเกตการณ์ในช่วงต่างๆได้

    WHAT IT DOES

    วิธีที่ใช้วิเคราะห์สรุปประเด็นนี้ สามารถเริ่มได้จากการจับประเด็นที่น่าสนใจจากข้อมูลที่ได้ไปสังเกตการณ์มา แล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยวิธีการค้นหาความเข้าใจเชิงลึกจากการสังเกตการณ์ (Observation to Insights) เพื่อให้ได้รับรู้เชื่อมโยงรายละเอียดความต้องการของผู้ใช้บริการในบริบทจริง ซึ่งมาจากการจดบันทึก รูปถ่าย วิดีโอ และการบันทึกเสียง โดยเน้นที่การตั้งคำถามว่ามีความน่าประหลาดใจหรือสิ่งที่ถูกซ่อนเร้นอย่างไร แล้วเขียนคำอธิบายสั้นๆ เป็นประเด็นที่สำคัญๆ ของความเข้าใจเชิงลึกในแต่ละข้อ วิธีนี้เป็นการใช้กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบระเบียบตลอดการสังเกตการณ์ เพื่อที่จะได้มาซึ่งความเข้าใจข้อมูลเชิงลึก (Insights) ในที่นี้เพื่อทำความเข้าใจ User Insight ในด้านพฤติกรรม ความต้องการ ทัศนคติ ความเชื่อ ความคาดหวัง ซึ่งได้มาจากการเรียนรู้และการสังเกตการณ์ผ่านกระบวนการตีความ โดยมีการตั้งคำถามและรวบรวมมุมมองผ่านการใช้เหตุและผล

    CONSIDERATIONS

    การตีความความเข้าใจเชิงลึกนั้น เป็นทักษะที่ต้องอาศัยประสบการณ์และมีมุมมองที่ละเอียดอ่อน ผู้วิจัยควรที่จะเข้าใจแรงจูงใจ (Motivations) การรับรู้ (Perception) บุคลิกภาพ (Personality) และทัศนคติ (Attitude) ของผู้ใช้บริการอย่างถ่องแท้ จึงจะเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดความเข้าใจเชิงลึกที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจต่อไป ทั้งนี้การสังเกตการณ์จะเป็นตัวนำไปสร้างสมมุติฐานในปัจจัยเหล่านี้ แต่เพื่อความมั่นใจอาจนำประเด็นสรุปความเข้าใจเชิงลึกดังกล่าวไปสัมภาษณ์ผู้ใช้เพิ่มเติมภายหลัง

    HOW IT WORKS

    1. รวบรวมการสังเกตการณ์และอธิบายผลการสังเกตการณ์ที่ได้มาจากการจดบันทึก รูปถ่าย วิดีโอ และการบันทึกเสียง ข้อเท็จจริงและผลของวิธีการอื่นๆ ในการสังเกตการณ์แต่ละครั้งให้เขียนข้อความบันทึก เพื่ออธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น การตีความใดๆ หรือการตัดสินใจต่างๆ ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลานี้
    2. ถามด้วยคําถามทําไมและค้นหาถึงการใช้เหตุผลที่เป็นที่ยอมรับภายในสมาชิกกลุ่ม ในการทำงานเป็นกลุ่มพยายามตั้งคำถามว่า การสังเกตการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะอะไร พยายามค้นหาว่าเหตุผลเบื้องหลังของการแสดงออก และพฤติกรรมของผู้คนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร พยายามตั้งจุดสังเกตหรือบันทึกความเข้าใจในเชิงลึกทั้งหมด และเลือกเฉพาะที่ยอมรับกันภายในกลุ่มมากที่สุด
    3. อธิบายความเข้าใจเชิงลึก เขียนคำอธิบายจุดประสงค์สั้นๆ โดยให้ระบุเป็นประเด็นที่สำคัญๆ ของความเข้าใจเชิงลึกในแต่ละข้อ ทั้งนี้ความเข้าใจเชิงลึก ควรที่จะถูกเขียนขึ้นเป็นในลักษณะที่เป็นคำอธิบายทั่วไป เนื่องจากสามารถใช้เป็นสิ่งที่แสดงถึงภาพรวมจากการเรียนรู้ จากการสังเกตการณ์จริง
    4. การจัดระบบระเบียบความเข้าใจเชิงลึกที่มีอยู่ การจัดเรียงประเด็นที่ได้จากการสังเกตการณ์และข้อสรุปของความเข้าใจเชิงลึกที่สอดคล้องกันในตารางเปรียบเทียบ มีข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่าในการจัดระบบความเข้าใจเชิงลึกนั้น ประเด็นที่ได้จากการสังเกตการณ์หลายประเด็นอาจจะนำไปสู่เพียงแค่ความเข้าใจเชิงลึกเพียงประเด็นเดียว ในทางกลับกันการเข้าใจเชิงลึกอีกหลายประเด็น สามารถได้มาจากเพียงสิ่งที่ค้นพบจากการสังเกตการณ์เดียวเช่นกัน
    5. อภิปรายและปรับปรุงโดยการหารือกันภายในกลุ่ม เรื่องความเข้าใจเชิงลึกเป็นการเรียนรู้โดยองค์รวมจากการวิจัยด้วยการตั้งคำถามถึงความเข้าใจเชิงลึกเหล่านี้ ว่ามีความน่าประหลาดใจหรือสิ่งที่ถูกซ่อนเร้นอย่างไร ความเข้าใจเชิงลึกที่มีอยู่มีเพียงพอที่จะครอบคลุมทุกด้านของหัวข้อหรือยัง มีความจำเป็นในการทำวิจัยเพิ่มเติมหรือต้องการทำการตรวจสอบเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงต่อไป