การสังเกตการณ์โดยใช้เครื่องมือ POEMS

Poems Framework

POEMS เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับศึกษาคน สิ่งของ สภาพแวดล้อม ข้อความ และการบริการในบริบทจริง

BENEFIT

เป็นกรอบแนวความคิดที่ช่วยให้เข้าใจบริบทอย่างละเอียด และเปิดมุมมองในการสังเกตการณ์ให้ครอบคลุมขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่สังเกตได้ยาก เช่น ด้านกระบวนการ

INPUT

  • หัวข้อสถานการณ์ที่จะทำการสังเกตการณ์
  • แบบฟอร์มการจดบันทึกสังเกตการณ์
  • OUTPUT

    ผลการจัดกลุ่มข้อมูลการสังเกตการณ์ในบริบทที่เกิดขึ้น

    WHAT IT DOES

    กรอบแนวความคิด POEMS เป็นเครื่องมือที่ช่วยสำหรับการวิจัยแบบสังเกตการณ์ ที่มุ่งเน้นในการอธิบายสิ่งต่างๆ ที่มี หรือเกิดขึ้นตามบริบท องค์ประกอบทั้ง 5 ซึ่งประกอบไปด้วย คน (People) สิ่งของ (Objects) สภาพแวดล้อม (Environments) ข้อความ (Messages) และการบริการ (Services) การใช้งานของกรอบแนวความคิด POEMS ช่วยทำให้ทีมวิจัยศึกษาองค์ประกอบเหล่านี้ได้เฉพาะเจาะลึกในแต่ละส่วน หรือเป็นในลักษณะที่เป็นภาพรวมความสัมพันธ์ทั้งระบบ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อศึกษาถึงสินค้าชนิดหนึ่ง โดยใช้กรอบแนวความคิด POEMS จะมองไปมากกว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้น ซึ่งจะรวมถึงการให้บริการ การส่งข้อความ สังเกตถึงสภาพแวดล้อม และผู้คนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความสัมพันธ์กันกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในระบบทั้งหมดที่ผลิตภัณฑ์นั้นได้ถูกใช้ในมุมมองที่กว้างขึ้น กรอบแนวความคิดนี้ช่วยให้ทีมได้คิดถึงระบบขององค์ประกอบต่างๆ ภายในบริบทนั้น

    CONSIDERATIONS

    แนวทางการทำวิจัยรูปแบบสังเกตการณ์นี้ ต้องใช้ทักษะในการสังเกตของผู้วิจัยและควรเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ เพื่อสะดวกในการวิเคราะห์เปรียบเทียบในภายหลัง

    HOW IT WORKS

    1. ก่อนที่จะลงพื้นที่ให้เตรียมตัวสร้างแบบฟอร์มในการจดบันทึกที่ช่วยทำให้สามารถจดบันทึกและแบ่งประเภทการสังเกตการณ์ได้ตามกรอบแนวความคิด POEMS โดยให้นำอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ เช่น สมุดจดบันทึก กล้อง ปากกา เครื่องบันทึกภาพหรือเสียงไปด้วย เพื่อช่วยเก็บข้อมูลประกอบในการสัมภาษณ์หรือสังเกตการณ์
    2. การลงพื้นที่สังเกตการณ์หรือเข้าไปพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่ โดยสังเกตการณ์หรือสอบถามเกี่ยวกับกิจกรรมและสิ่งต่างๆ ในสภาพแวดล้อม ข้อมูล ที่ได้ในลักษณะนี้จะเป็นการจดบันทึกตามการสังเกตการณ์หรือความคิดเห็นของผู้วิจัยในพื้นที่
    3. การเข้าใจบริบทผ่านกรอบแนวความคิด POEMS ในการใส่ข้อมูลในแต่ละองค์ประกอบ สามารถแจกแจงรายละเอียดได้ดังนี้

      คน (People)

      มีคนกี่ประเภทในบริบทนั้น ยกตัวอย่างเช่น แม่ คนซ่อมแซมบ้าน ลูกค้า แต่ละประเภทมีลักษณะ บทบาท หน้าที่ แตกต่างกันอย่างไร อะไรเป็นเหตุผลให้บุคคลเหล่านี้อยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นในเวลาเดียวกัน พยายามบันทึกประเภทของคนอย่างละเอียดและให้บันทึกในแบบฟอร์มการจดบันทึกที่เตรียมไว้

      สิ่งของ (Objects)

      สังเกตว่ามีสิ่งของอะไรอยู่ในพื้นที่บ้าง เช่น โทรศัพท์ โต๊ะรับประทานอาหาร หนังสือพิมพ์ สามารถจัดสิ่งของตามประเภทและกลุ่มต่างๆ ได้อย่างไร ให้จดบันทึกว่าแต่ละอย่างมีความสัมพันธ์กันเช่นไร

      สภาพแวดล้อม (Environments)

      กิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นในบริเวณใด เช่น ครัว ร้านค้า ห้องประชุม ให้จดบันทึกสถานการณ์ต่างๆ ในบริบทสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน

      ข้อความ (Messages)

      ให้จดบันทึกเกี่ยวกับข้อความที่ถูกสื่อสารในบริบทนั้น และข้อความดังกล่าวสามารถถูกส่งต่อได้อย่างไร เช่น ส่งต่อโดยการสนทนา โดยฉลากพัสดุ หรือโดยป้ายติดประกาศ

      การบริการ (Services)

      ให้บันทึกชนิดของการบริการที่มีอยู่ว่า มีบริการใดที่จัดไว้ให้ที่สร้างความพิเศษแตกต่างในบริบทนั้น เช่น การทำความสะอาด การส่งของ หรือสื่อโฆษณา
    4. อธิบายภาพรวมจากการสังเกตการณ์ในบริบทหรือคำตอบจากผู้ถูกสัมภาษณ์ที่สามารถเข้าใจได้ผ่านวิธีการ POEMS รวบรวมการจดบันทึกทั้งหมดและแบ่งปันผลการสังเกตการณ์ให้แก่สมาชิกในทีมวิจัยมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อไป
    ดาวน์โหลดแบบฟอร์มการสังเกตการณ์โดยใช้เครื่องมือ POEMS