การร่วมคิดร่วมสร้าง

Co-creation

การทำให้ผู้ใช้และผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการมีส่วนร่วมในการคิดสร้างระบบการบริการใหม่

BENEFIT

การพัฒนางานออกแบบจากมุมมองที่แตกต่างและหลากหลาย ทำให้เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของร่วมในผลงานการออกแบบบริการ

INPUT

ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการตั้งแต่พนักงาน นักออกแบบ ผู้บริหารไปจนถึงลูกค้า หรือผู้บริโภค

OUTPUT

งานออกแบบจากมุมมองที่แตกต่างและหลากหลาย

WHAT IT DOES

การร่วมคิดร่วมสร้าง (Co-creation) เป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบบริการ การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย ตั้งแต่พนักงาน นักออกแบบ ผู้บริหาร ไปจนถึงลูกค้า หรือผู้บริโภคเข้ามาทำงานร่วมกันในการตรวจสอบและพัฒนางานออกแบบบริการ เอื้อให้สามารถสำรวจแนวทางการพัฒนางานออกแบบจากมุมมองที่แตกต่างและหลากหลาย ผลจากการร่วมคิดร่วมสร้างมักเป็นแรงบันดาลใจหรือชี้ประเด็นให้ทีมออกแบบหลักทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในการพัฒนารายละเอียดของแนวคิดในขั้นต่อไปของกระบวนการออกแบบ ประโยชน์อีกด้านหนึ่งของการร่วมคิดร่วมสร้างคือการทำให้ผู้คนได้มาพบหารือกัน รวมตัวกันและสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในแนวคิดและนวัตกรรมการบริการที่พัฒนาขึ้น

CONSIDERATIONS

ต้องทำให้ผู้เข้าร่วมคิดร่วมสร้าง รู้สึกมีส่วนร่วม สามารถแสดงความคิดและสื่อสารความคิดเห็นได้โดยไม่กังวลว่าจะผิด หรือกังวลว่าคิดต่างจากผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า

HOW IT WORKS

  1. ประเมินความพร้อมและเตรียมความพร้อมให้แก่องค์กรในการร่วมคิดร่วมสร้าง การร่วมคิดร่วมสร้างจะได้ผลดีหากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและเปิดใจยอมรับความคิดเห็นทุกลักษณะ หากองค์กรยังไม่มีความพร้อม ทีมควรให้ความรู้และเปลี่ยนทัศนคติของฝ่ายต่างๆ เพื่อให้เตรียมเปิดรับความคิดเห็นจากลูกค้าและ/หรือผู้อื่นที่เข้าร่วมคิดร่วมสร้างในระหว่างที่ทำกิจกรรมร่วมกัน
  2. สำรวจปัญหาและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ก่อนที่จะเชิญให้ผู้ใช้หรือบุคคลภายนอกเข้าร่วมคิดร่วมสร้าง สื่อสารให้ทุกคนในทีมเข้าใจเป้าหมายของการร่วมคิดร่วมสร้าง และเตรียมรับฟังทุกสิ่งเพื่อเรียนรู้จากความเห็นของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
  3. พิจารณาว่ามีผู้ใดบ้างสมควรเข้าร่วมคิดร่วมสร้าง การคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้เป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ ทีมควรพิจารณาเชิญตัวแทนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ ผู้ที่มีความรู้ทางเทคนิค ทางการตลาด และพยายามควบคุมขนาดของกลุ่มให้มีจำนวนไม่เกิน 12 คน เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างทั่วถึง
  4. นัดหมายและเตรียมกิจกรรมร่วมคิดร่วมสร้าง วางแผนรายละเอียดการทำกิจกรรม ซึ่งเลือกใช้วิธีการออกแบบได้แทบทุกอย่าง ตั้งแต่การระดมสมอง การสร้างแผนภูมิแนวคิด การเล่าเรื่องการใช้บริการ ฯลฯ กำหนดเป้าหมายของแต่ละกิจกรรมย่อย และกิจกรรมโดยรวม แผนที่ชัดเจนเอื้อให้ผู้ร่วมกิจกรรมเข้าใจว่าจะทำกิจกรรมให้สำเร็จได้อย่างไร
  5. จัดหาผู้ช่วยดำเนินการ (Facilitator) ที่มีความสามารถ เข้าใจกระบวนการออกแบบ และสามารถทำให้คนทั้งกลุ่มทำงานร่วมกันได้ดี โดยทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมและกล้าออกความคิดเห็น รวมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือช่วยสื่อสารแนวคิด
  6. นำสิ่งที่ได้จากการร่วมคิดร่วมสร้างไปพัฒนาต่อยอด ทีมควรใช้สิ่งที่ได้จากการทำงานร่วมกันนี้ เป็นข้อมูลเพื่อให้เข้าใจผู้ใช้อย่างลึกซึ้ง วิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้ที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดต่างๆ เพื่อออกแบบบริการที่มีคุณค่าต่อผู้ใช้อย่างแท้จริง