ตารางโครงสร้างการใช้งาน

Morphological Chart

ตารางโครงสร้างการใช้งานที่เอื้อให้แยกคิดหาวิธีแก้ปัญหาย่อยทีละส่วนแล้วจึงนำมาผสานรวมกันเป็นระบบการบริการที่สมบูรณ์

BENEFIT

ช่วยให้ทีมวางแผนการคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบและสามารถตอบสนองความต้องการที่สำคัญได้ครบถ้วน กระตุ้นให้เกิดการคิดวิธีสนองตอบการใช้งานย่อยๆ จำนวนมาก ซึ่งสามารถผสานรวบเป็นแนวคิดระบบบริการที่หลากหลาย

INPUT

ความต้องการใช้งานต่างๆ ที่งานออกแบบบริการจะต้องตอบสนองวิธีตอบสนองการใช้งานย่อยจำนวนมาก

OUTPUT

แนวคิดระบบการบริการที่สมบูรณ์ ซึ่งสามารถตอบสนองทุกการใช้งานที่กำหนด แนวคิดระบบการบริการอันหลากหลายในเวลาอันรวดเร็ว

WHAT IT DOES

ตารางโครงสร้างการใช้งาน (Morphological Charts) เป็นวิธีการสร้างแนวคิดการออกแบบระบบบริการอันหลากหลายเป็นจำนวนมาก จากการผสมผสานวิธีตอบสนองการใช้งานที่แยกย่อยตามขั้นตอนปัญหาหรือความต้องการของผู้ใช้ การทำงานด้วยตารางโครงสร้างการใช้งาน เริ่มจากการระบุความต้องการใช้งานสำคัญที่การบริการต้องตอบสนองทั้งหมด แล้วจึงคิดวิธีการตอบสนองความต้องการย่อยๆ แต่ละประเด็นเหล่านั้นให้ครบทุกเรื่อง ขั้นตอนการทำงานเช่นนี้กระตุ้นให้ทีมวางแผนและคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ รวมทั้งสามารถตรวจสอบว่าสิ่งที่คิดนั้นสามารถตอบสนองความต้องการใช้งานได้ครบถ้วนทุกด้านแล้วหรือไม่ ทำให้ทีมสามารถบริหารจัดการเวลาในการคิดสร้างสรรค์ให้ครอบคลุมทุกประเด็นอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วงที่ีระดมสมองคิดวิธีการแก้ปัญหาย่อยๆ เป็นจำนวนมากต้องอาศัยการคิดแบบอเนกนัย (Divergent Thinking) จากนั้นในช่วงที่ทีมพิจารณารวมวิธีย่อยๆ ที่ส่งเสริมกันเข้าด้วยกันนั้น ต้องอาศัยวิธีคิดแบบเอกนัย (Convergent Thinking) เพื่อรวบผสานให้ได้แนวคิดการบริการที่สมบูรณ์ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการย่อยทุกด้านที่กำหนดได้ ตารางโครงสร้างการใช้งาน (Morphological Charts) ช่วยเรียบเรียงวิธีการแก้ปัญหาย่อยอย่างเป็นระบบ ทีมจึงสามารถคิดรวบวิธีย่อยเข้าเป็นระบบที่สมบูรณ์ได้หลากหลายแบบในเวลาอันรวดเร็ว

CONSIDERATIONS

ระบุความต้องการใช้งานสำคัญๆ ให้ครบ โดยอาศัยข้อมูลจากการวิจัยผู้ใช้และการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ พิจารณาเลือกวิธีการตอบสนองความต้องการย่อย ที่จะนำมาเชื่อมผสานให้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทีมควรมองหาและเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาที่สามารถตอบสนองความต้องการย่อยหลายอย่างได้โดยง่าย

HOW IT WORKS

  1. ระบุความต้องการใช้งานต่างๆ ที่งานออกแบบบริการต้องตอบสนองความต้องการใช้งานเหล่านี้ อาจเป็นความต้องการของผู้ใช้เช่น ความรวดเร็วของการบริการ สามารถติดตามความเป็นไปต่างๆ ได้ การเชื่อมโยงกับสังคมออนไลน์ ฯลฯ หรืออาจกำหนดความต้องการซึ่งแยกตามขั้นตอนใช้งานหรือประสบการณ์กับระบบบริการ เช่น การหาข้อมูลและการทำความเข้าใจการบริการ การสมัคร หรือเข้าร่วมเป็นสมาชิก การเข้ามาใช้การบริการ การหยุดใช้บริการการบอกต่อ และการกลับมาใช้ซํ้า เป็นต้น
  2. สร้างตารางโดยนำความต้องการที่ต้องตอบสนองทั้งหมดมาเรียงเป็นแถวตามตั้งทางด้านซ้ายสุดของตาราง เป็นความต้องการใช้งาน a, b, c, d, e, f จากนั้นให้คิดวิธีตอบสนองการใช้งานหลายๆ แบบแล้ววาดหรือเขียนวิธีที่คิดได้เรียงตามนอนไปทางขวา นับเป็นวิธีตอบสนองความต้องการย่อยที่ a1, a2, a3, a4, a5,…. f1, f2, f3, f4, f5 ไปเรื่อยๆ ทำเช่นนี้ให้ครบสำหรับทุกการใช้งานที่กำหนดไว้
  3. เลือกวิธีตอบสนองการใช้งานย่อยที่ส่งเสริมหรือใช้ร่วมกันได้มาผสานรวมกันเป็นระบบการบริการที่สมบูรณ์ โดยให้เลือกวิธีตอบสนองการใช้งาน 1 แบบที่ตอบสนองการใช้งานแต่ละด้าน เช่น a5+b1+c4+d2+e6+f3 มาเชื่อมผสานกันเป็นระบบการบริการที่สามารถตอบสนองการใช้งานครบทั้ง a, b, c, d, e, f ตามที่กำหนดไว้ ทำเช่นนี้โดยทดลองเลือกตัวเลือกย่อยๆ ที่แตกต่างกันมารวมเป็นระบบบริการที่มีความหลากหลาย
  4. บันทึกและอธิบายระบบบริการแต่ละแบบ โดยอาจใช้วิธีการเล่าเรื่องหรือใช้ภาพวาดหรือภาพถ่ายประกอบเรื่องเล่า เพื่อให้สามารถสื่อสารแนวคิดระบบบริการแต่ละแบบให้ทีมและผู้อื่นเข้าใจได้โดยง่าย
ดาวน์โหลดแบบฟอร์มตารางโครงสร้างการใช้งาน