พุเมตริกซ์

Pugh Matrix

เครื่องมือช่วยประเมินตัวเลือกจำนวนมาก โดยการเทียบกับตัวเปรียบเทียบตัวหนึ่งตามเกณฑ์ที่สำคัญซึ่งกำหนดไว้

BENEFIT

เอื้อให้สามารถประเมินตัวเลือกจำนวนมากอย่างเป็นระบบได้โดยง่ายและแม่นยำ เอื้อให้สามารถนำข้อดีของแนวคิดต่างๆ มารวบผสานกัน เพื่อพัฒนาแนวคิดหลักให้สมบูรณ์มากขึ้น

INPUT

เกณฑ์ที่สำคัญสำหรับการคัดกรองแนวคิด และการบริการที่กำหนดเป็นตัวเปรียบเทียบแนวคิดทางเลือกที่ทีมพัฒนาไว้จำนวนมาก

OUTPUT

คะแนนการเปรียบเทียบแนวต่างๆ คิดตามเกณฑ์ที่กำหนดแนวคิดหลักที่ได้รับการพัฒนา โดยการผสานข้อดีของแนวคิดย่อยต่างๆ เข้าด้วยกัน

WHAT IT DOES

พุเมตริกซ์ (Pugh Matrix) ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นโดย Stuart Pugh นี้มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันหลาย ชื่อเช่น Pugh Method, Pugh Analysis, Decision Matrix Method, Decision Matrix, Decision Grid, Selection Grid, Selection Matrix, Problem Matrix, Problem Selection Matrix, Problem Selection Grid, Solution Matrix, Criteria Rating Form, Criteria-based Matrix, Opportunity Analysis เป็นต้น พุเมตริกซ์ใช้สำหรับประเมินตัวเลือกจำนวนมากโดยการเทียบกับตัวเลือกตัวหนึ่ง ซึ่งทีมกำหนดไว้เป็นตัวเปรียบเทียบ (Baseline) เช่นเปรียบเทียบแนวคิดการบริการใหม่ 5 แบบ กับระบบบริการเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน การประเมินทำอย่างเป็นระบบโดยการกรอกคะแนนลงบนตารางที่สัมพันธ์กับเกณฑ์ที่ทีมเลือกใช้ในการประเมิน พุเมตริกซ์เอื้อให้ทีมสามารถกำหนดคะแนนสำหรับแต่ละแนวคิดได้ง่ายขึ้นด้วยการเปรียบเทียบกับตัวเลือกเพียงตัวเดียวที่กำหนดไว้ คือพิจารณาว่าแนวคิดใหม่นั้นดีกว่า แย่กว่า หรือดีพอๆ กับการบริการเดิมตามเกณฑ์ที่กำหนดให้พิจารณาแต่ละเกณฑ์ นอกจากนี้การประเมินอย่างเป็นระบบด้วยพุเมตริกซ์ยังเอื้อให้ทีมสามารถนำข้อดีของแนวคิดต่างๆ มารวบผสานเพื่อพัฒนาแนวคิดหลักให้สมบูรณ์มากขึ้นด้วย พุเมตริกซ์จึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือช่วยประเมิน แต่เป็นเครื่องมือช่วยในกระบวนการคิดสร้างสรรค์แบบเอกนัย (Convergent Thinking) อย่างเป็นระบบด้วย

CONSIDERATIONS

– กำหนดเกณฑ์การประเมินที่สำคัญและสอดคล้องกับผลการวิจัยผู้ใช้และเป้าหมายของโครงการ

– ทีมควรใช้พุเมตริกซ์เป็นเครื่องมือช่วยในการคิดสร้างสรรค์แบบเอกนัย (Convergent Thinking) ควบคู่กับการประเมินตัวเลือกต่างๆ

HOW IT WORKS

  1. พิจารณาเลือกเกณฑ์ที่สำคัญในการคัดกรองแนวคิด โดยเลือกอย่างน้อย 4 เกณฑ์ที่สำคัญที่สุด เกณฑ์เหล่านี้ควรได้มาจากผลการวิจัยผู้ใช้และเป้าหมายของโครงการออกแบบการบริการ เช่น ระยะเวลาการคืนทุน (ROI) ราคา ความสะดวกในการเตรียมให้บริการ จำนวนชั่วโมงการทำงานของพนักงาน หรือเกณฑ์อื่นๆ ที่สำคัญสำหรับโครงการ
  2. เลือกการบริการหนึ่งที่มีอยู่แล้ว หรือที่กลุ่มเป้าหมายใช้อยู่ในตลาดซึ่งทีมรู้จักและเข้าใจดีมาเป็นตัวเปรียบเทียบ
  3. สร้างตารางคัดกรองแนวคิด โดยนำเกณฑ์ทั้งหมดมาเรียงเป็นแถวตามตั้งทางซ้ายของตาราง และนำตัวเลือกต่างๆ มาเรียงตามขวางในแถบบนสุดของตาราง
  4. พิจารณาให้คะแนนแนวคิดในแต่ละช่อง โดยเปรียบเทียบกับการบริการที่กำหนดเป็นตัวเปรียบเทียบ (ในข้อ 2) หากเทียบแล้วแนวคิดนั้นๆ ดีกว่าตัวเปรียบเทียบ ให้ใส่คะแนน +1 หากไม่ดีเท่าให้ใส่คะแนน -1 หากดีพอๆ กันกับบริการที่เป็นตัวเปรียบเทียบให้ใส่คะแนน 0 ลงในช่องนั้นๆ ทำเช่นนี้ต่อไปจนครบทุกช่อง
  5. พิจารณาผลรวมคะแนน และเลือกแนวคิดที่มีคะแนนรวมสูงสุดเป็นแนวคิดหลัก ซึ่งควรนำไปพัฒนาต่อโดยนำข้อดีของแนวคิดอื่นที่มีคะแนน+1 ในบางเกณฑ์มาประยุกต์ผสมผสานให้เกิดแนวคิดรวมใหม่ที่สมบูรณ์มากขึ้น
  6. ในกรณีที่เกณฑ์แต่ละด้านมีความสำคัญไม่เท่ากัน ทีมสามารถกำหนดนํ้าหนักของเกณฑ์แต่ละด้าน แล้วนำไปคูณกับผลคะแนนในข้อ 4 ก่อนพิจารณาคัดกรองและผสานแนวคิดตามขั้นตอนในข้อ 5
  7. เพื่อการคัดกรองที่ละเอียดมากขึ้น ทีมอาจเพิ่มระดับคะแนนในข้อ 4 อีกสองระดับคือ -2 แย่กว่ามาก , -1 แย่กว่า, 0 ดีเท่ากัน, +1 ดีกว่า, +2 ดีกว่ามาก แล้วจึงพิจารณาคะแนนรวมตามขั้นตอนในข้อ 5 และ 6 ตามลำดับ
ดาวน์โหลดแบบฟอร์มพุเมตริกซ์